ภายในบริเวณวัดประกอบด้วยอุโบสถมีลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน มีลวดลายปูนปั้น ประดับที่บริเวณหน้าบันและซุ้มประตูและหน้าต่างประตูทางเข้าที่ผนังและเพดานภายในอุโบสถ มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ภายนอกบริเวณอุโบสถ ประกอบด้วยใบเสมาคู่ เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองและตุ๊กตาสิงห์ของจีนทำด้วยหิน อยู่เป็นระยะๆ ล้อมรอบ ด้วยวิหารคด

ด้านข้างอุโบสถยังมีพระพุทธรูปโบราณ หล่อด้วยสำริด ศิลปะสมัยสุโขทัย ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๒ ศอก เรียกขานกันว่า "หลวงพ่อโพธิ์"

บรรยากาศในบริเวณวัดจอมสุดาราม ถือว่ามีความสงบร่มรื่นพอสมควร กุฏิสงฆ์ตั้งไว้เป็นหมวดหมู่เรียงแถวอย่างเป็นระเบียบ มีทั้งหมด ๘ คณะ มีความสะอาดตา สำหรับต้นไม้ใหญ่ที่ปลูกภายในวัด มีให้เห็นเป็นจำนวนมาก ทำให้วัดแลดูร่มรื่น ด้วยความที่วัดจอมสุดาราม เป็นวัดที่มีพื้นที่ไม่กว้างขวางมากนัก และมีสถานที่ตั้งในเขต ชุมชนวัดไพรงาม ทำให้มีผู้คนเดินผ่านเข้าออกเป็นจำนวนมาก จึงมีปัญหาในการปกครองและบริหารจัดการบ้าง เช่น เรื่องความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นต้น

ประวัติหลวงพ่อจันทน์หอม

ภาพหลวงพ่อจันทน์หอม พระประธานประจำอุโบสถ วัดจอมสุดาราม(ไพรงาม)

ประวัติพระประธานในอุโบสถวัดจอมสุดารามพระประธานในโรงอุโบสถวัดจอมสุดราม (ไพรงาม) ไม่ปรากฏนามและผู้สร้าง ที่ชัดเจน ทราบเพียงว่าเป็นพระพุทธรูปศิลปะสมัยสุโขทัย มีขนาดหน้าตักกว้าง ๒ .๑๖ เมตร หรือ ๔ ศอก ๑ คืบ สูงจากพื้นฐานชุกชีถึงยอดพระเกศ ๒.๓๓ เมตร (ไม่รวมรัศมีเปลวเพลิง ๖๓ ชม.) เท่ากับ ๔ ศอก ๒ คืบ

          วัสดุที่สร้างในเบื้องต้นสันนิษฐานว่าเป็นเนื้อปูนทั้งองค์ หรืออาจเป็นเนื้อโลหะ แต่ฉาบด้วยปูน จนกระทั่งวันที่ ๕  สิงหาคม ๒๕๖๑ ได้มีคุณฐิระวัตร กุลละวณิชย์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และอดีตอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ท่านผู้รุ่งเรื่องด้วยจิตศรัทธา ปวารณาจะบูรณะปิดทองพระประธานเสียใหม่ พร้อมกับพระอัครสาวกซ้ายขวา พระสารีบุตรและพระมหาโมคัลลานะ ที่มีการชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา โดยเฉพาะความชื้นที่สะสมอยู่ในองค์พระประธาน ทำให้ปูนที่ฉาบทาอยู่ด้านนอกแตกผุพังออกมา

          เพื่อต้องการแก้ปัญหาให้ถาวร ช่างผู้ชำนาญการจึงได้สกัดเอาผิวปูนออกและเจาะรูเข้าไปในองค์พระประธาน เพื่อระบายความชื้น เมื่อช่างใช้สว่านเจาะเข้าไปผลที่ปรากฏออกมากลับเป็นผงไม้จันทน์หอม ส่งกลิ่นหอมไปทั่วบริเวณ สร้างความปลิ้มปีติยินดีแก่ช่างและเจ้าหน้าที่วัดที่คุมการบูรณะอยู่เป็นอย่างยิ่ง

          และที่สร้างความประหลาดใจให้ผู้อยู่ในเหตุการณ์มากขึ้นไปอีกก็คือ ช่างต้องการทราบว่า พระประธานสร้างจากไม้จันทน์หอมทั้งองค์ หรือว่าสร้างจากไม้จันทน์หอม ที่ใช้ตีเป็นโครงจั่ว จึงได้ใช้สว่านเจาะดูเพิ่ม เพื่อให้เกิดความมั่นใจ แต่ปรากฏว่า สว่านของช่างได้เกิดเครื่องดับไปถึงสองครั้ง สร้างความอัศจรรย์แก่ผู้พบเห็น ทำให้ทราบได้ว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต้องการให้เรารู้แค่นั้น จะได้ไม่เกิดความเสียหายและไม่ต้องไปจินตนาการว่าพระประธานข้างในเป็นเนื้ออะไรอีกต่อไป และที่สร้างความประหลาดใจมากไปกว่านั้นก็คือ เมื่อช่างสกัดผิวปูนตรงบริเวณพระชานุ (เช่า) ออกมา ปรากฏว่าได้มีพระบรมสารีริกธาตุหล่นลงมาหนึ่งองค์ ช่างจึงได้เก็บรวบรวมมาถวายเจ้าอาวาสพร้อมกัน

          ช่างผู้เชี่ยวชาญได้ให้ความเห็นไว้ว่า ธรรมดาคนโบราณจะไม่นิยมบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในส่วนล่างขององค์พระประธาน เหตุการณ์นี้น่าจะเป็นการเสด็จมาเองเพราะเคยมีคนเก่าแก่ได้เคยเห็นลำแสงสว่างพุ่งลงมาบนหลังคาอุโบสถในวันพระใหญ่หรือวันสำคัญทางพระพุทธศาสนามาหลายต่อหลายครั้งแล้ว

          แต่สิ่งที่นำอัจรรย์อีกประการหนึ่งก็คือ พระพุทธรูปยืนคู่ บางห้ามสมุทร ที่ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าของพระประธาน ก็สร้างโดยไม้จันทน์หอมเช่นกัน โดยผู้สร้างถวายคือ คุณไพฑูรย์ นนทศุข อดีตผู้จำนวยการกองคลัง กรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งเป็นผู้ให้บังคับบัญชาของคุณฐิระวัตร กุลละวณิชย์ ได้ขอให้ช่างฝี่มือชั้นครูจากศูนย์ศิลปาชีพพิเศษ บางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นผู้แกะสลัก โดยตั้งชื่อว่า พระพุทธมณฑลชัย (โยธา) และพระพุทธมณฑลชัย (ผังเมือง)
          ปรากฏการณ์สิ่งที่น่าอัศจรรย์ยังเกิดขึ้นไม่จบ เมื่อคุณไพฑูรย์เล่าว่า มีผู้ศรัทธามอบไม้จันทน์หอมเพื่อแกะสลักเป็นพระพุทธรูปสองท่อน เพื่อทำเป็นพระพุทธรูปสององค์และนำมาไว้ที่บ้าน แต่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ทำให้น้ำพัดพาเอา ท่อนไม้จันทน์หอมหายไปด้วย สร้างความเสียใจให้กับคนรับและคนมอบเป็นอย่างมาก
          แต่การณ์กลับเป็นว่า ในไม่กี่เดือนต่อมา หลังน้ำลด ได้มีคนเอาท่อนไม้จันทน์หอมมามอบให้ใหม่ โดยมีท่อนใหญ่กว่าเดิม และเมื่อแกะสลักเสร็จเรียบร้อยแล้ว คุณไพฑูรย์คิดว่าจะนำไปประดิษฐานที่ไหน ก็มีเหตุดลใจให้นำมาถวายที่วัดจอมสุดาราม เพื่อความงดงามสมส่วนบนแท่นพระประธาน ที่สำคัญคือทั้งพระประธานและพระพุทธรูปคู่บริวาร ล้วนสร้างจากไม้แก่นจันทน์หอมทั้งหมด
ที่น่าแปลกใจอีกอย่างที่ควรกล่าวถึงก็คือ เมื่อคุณฐิระวัตร ปรารภที่จะบูรณะพระประธานก็ได้กราบเรียนประสานกับพระเดชพระคุณพระเทพปฏิภาณวาที เจ้าคณะเขตดุสิต ให้พิจารณาหาวัดที่เหมาะสมอยู่หลายวัด แต่ก็มาลงเอยที่พระประธานวัดจอมสุดาราม ซึ่งเป็นที่มาของเรื่องเล่าอันน่าอัศจรรย์ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น

"  ชาตุ จิริ สติ ธมฺโม "

ขอพระสิทธรรมขององค์พระศาสคาสัมมาสัมพุทธเจ้า จงคำรงคงมั่นอยู่ตราบ ชั่วกาลนาน เทอญ