วัดจอมสุดาราม เป็นวัดเป็นดราษฎร์ ตั้งอยู่เลขที่ ๑๕๑๖ ถนนนครไชยศรี แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ มีรหัสการสร้างวัดเลขที่ ระบุว่าสร้างขึ้นเมื่อปลายปีพุทธศักราช พ.ศ. ๒๓๙๐ สร้างถวายโดย พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ เจ้าฟ้าชายอิศราพงศ์ ต้นราชสกุลอิศรศักดิ์ พระราชโอรสของพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดาราวดี กับสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า ร. ๓) ที่ตั้งวัดจอมสุดารามนั้น ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เป็นพระราชอุทยานและพระตำหนักของพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดาราวดี ซึ่งพระองค์ประสูติเมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๒๘ เป็นพระธิดาในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสีหนาท (เจ้าฟ้าบุญมา พระอนุชาในรัชกาลที่ ๑) โดยเป็นพระธิดาพระองค์ที่ ๑๑ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาน้อย (บ้างออกนามว่า น้อยแขก) ได้เป็นพระสนมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
ต่อมาพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดาราวดี ได้เสกสมรสเป็นพระชายาของสมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาศักดิพลเสพ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า ร.๓) ชาววังออกพระนามว่า เจ้าข้างใน หรือทูลกระหม่อมข้างใน มีพระโอรสหนึ่งพระองค์ คือ พระเจ้าราชวรวงศ์เธอเจ้าฟ้าอิศราพงศ์
ซึ่งพระองค์ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๖๓ แต่ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๑๒ ในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ
กรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดาราวดี สิ้นพระชนม์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 พระราชทานเพลิงพระศพ เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๑๑
พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดาราวดีและพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ เจ้าฟ้าชายอิศรพงศ์ พระราชโอรส ได้อุทิศถวายพระราชอุทยานพร้อมพระตำหนักสร้างเป็นวัดในพระพุทธศาสนา ดำเนินการก่อสร้างอยู่หลายปี จึงสำเร็จลุล่วงลงและได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปีพุทธศักราช ๒๔๑๔ ซึ่งเป็นปีที่พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ เจ้าฟ้าชายอิศรพงศ์ สิ้นพระชนม์พอดี
ในอดีตเนื่องจากวัดนี้ตั้งอยู่ริมคลองสามเสนซึ่งมีคุ้งน้ำตรงบริเวณหน้าวัดเป็นที่ร่มรื่นด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ น้ำใสไหลเย็นใช้เป็นที่อุปโภคบริโภคของผู้คนในระแวกนี้ ชาวบ้านจึงเรียกวัดนี้ในคราวแรกสร้างว่า“วัดพรายงาม” บ้าง "วัดไพรงาม" บ้าง หรือ "ไทรงามบ้าง" บ้าง
ต่อมาในคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินมาถวายกฐินพระราชทานแก่วัดที่ตั้งอยู่ริมคลองสามเสนเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๔๒ ในคราวครั้งนั้น พระองค์ทรงพระราชทานนามวัดเสียใหม่ว่า “วัดจอมสุดาราม” (แปลว่า วัดลูกเจ้าจอมสร้าง) เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดาราวดีและพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ เจ้าฟ้าชายอิศรพงศ์ผู้มีความกตัญญูและศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง
ภายในบริเวณวัดประกอบด้วยอุโบสถมีลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน มีลวดลายปูนปั้น ประดับที่บริเวณหน้าบันและประตูหน้าต่างด้านนอก ส่วนบานหน้าต่างภายในอุโบสถ มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ภายในบริเวณอุโบสถล้อมรอบด้วยวิหารคต มีศิลปวัตถุทรงคุณค่า ประกอบด้วย ใบเสมาคู่ เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองและตุ๊กตาสิงห์ของจีน ทำด้วยหิน ศาลารายประดิษฐานรอยพระพุทธบาท พระบรมสาลีริกธาตุ และประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่ ๕ หลัง นอกจากนี้ ด้านข้างอุโบสถยังมีพระพุทธรูปโบราณ หล่อด้วยสำริด ศิลปะสมัยสุโขทัย ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๒ ศอก เรียกขานกันว่า "หลวงพ่อโพธิ์"
บรรยากาศในบริเวณวัดจอมสุดาราม ถือว่าเป็นไปตามอุดมคติของวัด คือ มีความสะอาด สว่าง และสงบ ร่มรื่นพอสมควร กุฏิสงฆ์มีการจัดสร้างเป็นหมวดหมู่เรียงแถวอย่างเป็นระเบียบ มีทั้งหมด 8 คณะ สำหรับต้นไม้ใหญ่ที่ปลูกภายในวัด มีให้เห็นเป็นจำนวนมาก ทำให้วัดแลดูร่มรื่น ด้วยความที่วัดจอมสุดาราม เป็นวัดที่มีพื้นที่ไม่กว้างขวางมากนัก และมีสถานที่ตั้งในเขตชุมชนวัดจอมสุดาราม ทำให้มีผู้คนเดินผ่านเข้าออกเป็นจำนวนมาก จึงมีปัญหาในการปกครองและบริหารจัดการบ้าง เช่น เรื่องความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นต้น
วัดจอมสุดารามเป็นวัดปกครองโดยมหาเถรสมาคม ในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีพื้นที่ทั้งหมด ๘ ไร่ ๓ งาน ๑๖ ตารางวา
ตั้งอยู่บ้านเลขที่ ๑๕๑๖ ถนนนครไชยศรี แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร รหัสไปรษณีย์ ๑๐๓๐๐
อาณาเขต ทิศเหนือติดกับที่ดินเอกชนถนนนครไชยศรี ทิศใต้ติดกับคลองสามเสน ทิศตะวันออกติดกับที่ดินเอกชนริมถนนสวรรคโลก
ทิศตะวันตกติดกับกรมสรรพสามิต (กรมฝิ่น) ปัจจุบันมีชุมชนอาศัยอยู่ประมา ๙๐ หลังคาเรือน ส่วนใหญ่เป็นแม่บ้าน ประกอบอาชีพค้าขาย และรับจ้างทั่วไป
วัดจอมสุดาราม มีที่ธรณีสงฆ์จำนวน ๑ แปลง เนื้อที่ ๑๑๗ ไร่ ๓ งาน ๘๕ ตารางวา ตั้งอยู่ที่อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี โดยขุนอักษรกิจวิจารณ์
ผู้สร้างกุฏิทรงไทยแฝด คณะ ๘ วัดจอมสุดาราม เป็นผู้มีศรัทธาได้ทำพินัยกรรมมอบถวาย เพื่อใช้เป็นแหล่งรายได้บำรุงวัดจอมสุดาราม และอาจเป็นวัดสาขาหรือศูนย์ปฏิบัติธรรมของวัดในอนาคต